แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับความฉลาดทางอารมณ์

        

การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์

  ความหมายของความฉลาดทางอารมณ์

   องค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์

  ความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์

  การประเมินความฉลาดทางอารมณ์และประสิทธิภาพของอารมณ์

   การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์

หน้าหลักสืบค้น

 

            ความฉลาดทางอารมณ์สามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ในตัวบุคคล  มีผู้ศึกษา               และให้แนวทางการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ไว้ดังนี้
            กระทรวงสาธารณสุข,  กรมสุขภาพจิต (2544,  หน้า 17)  เนื่องจากความฉลาดทางอารมณ์ส่วนใหญ่เกิดจากการเรียนรู้ตามพัฒนาการ  แต่ละขั้นของบุคคล  ดังนั้นจึงมีแนวทางหลักที่สำคัญในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์

  1. การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับตน  คือ  การรู้เท่าทันอารมณ์ของตน  สามารถติดตามอารมณ์ของตนเองอยู่เสมอ  และในทุกอารมณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง  ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตนเอง  ตระหนักถึงข้อดีและข้อบกพร่องของตนเอง  โดยรู้ด้วยตนเอง  และการที่ผู้อื่นให้ข้อมูลย้อนกลับ  การยอมรับข้อบกพร่องของตนเป็นการเปิดโอกาสให้ได้ปรับปรุงตนเองหรือเกิดความระมัดระวังในการแสดงอารมณ์มากขึ้น  โดยปกติเมื่อมีสิ่งมากระตุ้นที่ทำให้เกิดอารมณ์  บุคคลจะอยู่ในภาวะใดภาวะหนึ่งดังต่อไปนี้

            ถูกครอบงำ  หมายถึง  การที่ไม่สามารถฝืนต่อสภาพอารมณ์นั้น ๆ ได้  จึงแสดงพฤติกรรมออกไปตามสภาพอารมณ์ดังกล่าว เช่น โกรธ  ก็จะขว้างปาสิ่งของ เป็นต้น
ไม่ยินดียินร้าย  หมายถึง  การไม่ยินดียินร้ายต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้นหรือทำเป็นละเลยไม่สนใจเพื่อบรรเทาการแสดงอารมณ์  เช่น  ทำเป็นไม่ใส่ใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งที่จริง  ก็รู้สึกโกรธ
รู้เท่าทัน  หมายถึง  การรู้เท่าทันต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้น  มีสติรู้ว่าควรจะทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุดในขณะที่เกิดอารมณ์นั้น ๆ เช่น โกรธก็รู้ว่าโกรธ  แต่สามารถควบคุมความโกรธนั้นได้  ระงับอารมณ์โกรธได้  และหาวิธีจัดการแก้ไข  ได้อย่างเหมาะสม

            แนวทางในการพัฒนาการรู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง
ทบทวน  ถ้ารู้สึกว่าที่ผ่านมามีปัญหาในการแสดงอารมณ์  ลองให้เวลาทบทวนอารมณ์ด้วยใจที่เป็นกลางไม่เข้าข้างตัวเอง  ว่าเรามีลักษณะอารมณ์เป็นอย่างไร  มีการแสดงออกอย่างไร  มีความเหมาะสมหรือไม่ต่อการแสดงออกในลักษณะนั้น ๆ
ฝึกสติ  ฝึกให้มีสติและรู้ตัวอยู่เสมอว่า  ขณะนี้เรากำลังรู้สึกอย่างไรกับตนเอง หรือต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวและรู้สึกอย่างไรกับความรู้สึกและความรู้สึกนั้น มีผลอย่างไรกับการแสดงออกของเรา

  1. การจัดการกับอารมณ์ของตนอย่างเหมาะสม  เป็นความสามารถในการควบคุมอารมณ์และสามารถแสดงออกไปได้อย่างเหมาะสมกับกาลเทศะ  ตระหนักว่าตนคือผู้รับผิดชอบอารมณ์ของตนเอง  เป็นผู้สร้างอารมณ์ขึ้นมาจากเหตุการณ์ภายนอก  สามารถแยกข้อเท็จจริงจากการตีความหมายได้  เนื่องจากอารมณ์ส่วนมากเกิดจากความคิดและการตีความหรือประเมินสถานการณ์โดยตัวเราเอง  จึงควรฝึกการแยกข้อมูลที่ได้จากประสาทสัมผัสกับการตีความ  ไม่ยึดติดกับประสบการณ์เดิม  ซึ่งทำให้การตีความ  ในปัจจุบันอาจผิดพลาดได้

            แนวทางในการจัดการกับอารมณ์ตนเอง
ทบทวน  เพื่อประเมินว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่กระทำลงไปเพื่อตอบสนองอารมณ์ที่เกิดขึ้นและพิจารณาว่าผลที่ตามมาเป็นอย่างไร
เตรียมการในการแสดงอารมณ์  ฝึกสั่งตัวเองว่าจะทำอะไรและจะไม่ทำอะไร  ฝึกรับรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นหรือสิ่งที่เราต้องการเกี่ยวข้องในด้านดี  ทำอารมณ์ให้แจ่มใส  ไม่เศร้าหมอง
สร้างโอกาสจากอุปสรรค  หรือหาประโยชน์จากปัญหา  โดยการเปลี่ยนมุมมอง  เช่น  คิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือความท้าทายที่จะทำให้เราพัฒนายิ่งขึ้น  เป็นต้น
ฝึกผ่อนคลายความเครียด  โดยเลือกวิธีที่เหมาะกับตนเอง  เช่น  ออกกำลังกาย  นั่งสมาธิ  เดินจงกรม  ปลูกต้นไม้  เป็นต้น

  1. ฝึกให้สามารถรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเองและคลี่คลายอารมณ์ทางลบให้หมดไป  ฝึกฝนการมีสมาธิจดจ่ออยู่กับกิจกรรมหรืองานที่ทำ  ทำให้ต้องตริตรองในเรื่องนั้น ๆ เป็นการสร้างความเพลิดเพลินใจขึ้นมาแทนที่ความรู้สึกทางลบที่มีอยู่เดิมให้ได้
  2. ฝึกการใช้อารมณ์ให้ส่งเสริมความคิดของตน  โดยอารมณ์จะช่วยปรับแต่งและปรับปรุงความคิดให้เป็นไปในทางที่มีประโยชน์  มีความรู้สึกกลมกลืนไปกับงานซึ่งเกิดขึ้นจากการท้าทายที่เหมาะสม  ไม่มากหรือน้อยเกินไป
  3. สร้างเสริมพลังจูงใจให้ตนเอง  ด้วยการมองและเห็นถึงความงดงามของโลกหรือบุคคลอื่น  ควรละจากความหมกมุ่นในกิจกรรมส่วนตัว  และพิจารณาสิ่งรอบข้างบุคคลรอบตัว  เพื่อนร่วมงาน  รวมทั้งตนเอง  ชื่นชมในส่วนดีทั้งของเขาและของเรา  ความเคร่งเครียดของจิตใจและการเห็นทุกอย่างเต็มไปด้วยอุปสรรคจะลดลง

            นงพงา  ลิ้มสุวรรณ  (2547,  หน้า  198-199)  กล่าวว่าคนที่มีอีคิวสูงจะมีคุณสมบัติทั่ว ๆ ไป  ดังนี้

  1. มีวุฒิภาวะทางอารมณ์
  2. มีการตัดสินใจที่ดี
  3. ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้
  4. มีความอดกลั้น
  5. ไม่หุนหันพลันแล่น
  6. ทนความผิดหวังได้
  7. เข้าใจจิตใจของผู้อื่น
  8. เข้าใจสถานการณ์ทางสังคม
  9. ไม่ย่อท้อหรือยอมแพ้อะไรง่าย
  10. สามารถสู้ปัญหาชีวิตได้
  11. ไม่ปล่อยให้ความเครียดท่วมทับความคิดไปหมดจนทำอะไรไม่ถูก

            เทอดศักดิ์  เดชคง  (2548,  หน้า  43)  กล่าวว่า  ความสามารถทางจิตใจ  ในการมองตนเอง  มองโลกในแง่ดี  รู้จักแก้ไขความขัดแย้ง  ความเครียด  การรู้ข้อดีข้อด้อยของตนเอง  มุ่งการกระทำที่ไปสู่เป้าหมาย  ถูกเรียกรวม ๆ กันว่าความสามารถทางอารมณ์ หรือความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence)  ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งบอกถึงความสำเร็จของชีวิตในอนาคต
จากแนวทางในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ที่กล่าวมาข้างต้นสรุปได้ว่า  การที่จะพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์นั้นต้องรู้เท่าทันอารมณ์ตนเองโดยการทบทวนอารมณ์ด้วยใจที่เป็นกลางไม่เข้าข้างตนเอง รู้ข้อดีข้อด้อยของตนเอง แล้วปรับปรุงตัวเอง ฝึกสติ และมองโลกในแง่ดี เพราะการที่จะสามารถดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบันได้อย่างมีศักยภาพ  บุคคลจำเป็นจะต้องสามารถปรับตัวในการทำงานร่วมกับผู้อื่นในฐานะสมาชิกของกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุขในการทำงาน มีความรับผิดชอบ มีความเข้าใจ และเอื้ออาทรผู้ร่วมงานได้เป็นอย่างดี  มีความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ  สามารถแสดงบทบาททางสังคมในฐานะของผู้นำและผู้ตามได้อย่างเหมาะสม

 

อ้างอิงจาก

กระทรวงสาธารณสุข, กรมสุขภาพจิต. (2546).  สุขภาพจิตไทย พ.ศ. 2545-2546.
กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.

นงพงา  ลิ้มสุวรรณ. (2547).  เลี้ยงลูกถูกวิธี  ชีวีเป็นสุข (พิมพ์ครั้งที่ 9).
กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์แปลนพริ้นติ้งเพลส.

เทอดศักดิ์  เดชคง. (2548).  มีดีบ้างไหม? คำถามพลิกชีวิต เปลี่ยนวิกฤตให้เป็น
โอกาส (พิมพ์ครั้งที่ 4).  กรุงเทพมหานคร:  สำนักพิมพ์มติชน.